เลือกตั้งประจำปีที่อเมริกาเป็นยังไง เหมือนหรือต่างกับไทย
การเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นจะมีความแตกต่างจากการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างมาก ตั้งแต่วันเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง ไปจนถึงหลักฐานการออกเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากอเมริกานั้นประกอบด้วยหลายๆรัฐ กระบวนการในระดับรัฐก็จะแตกต่างกันไปตามกฎหมายท้องถิ่น แต่กระบวนการในระดับประเทศจะเหมือนกันตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง โดยที่เหมือนกันทั้งประเทศคือจะมีการเลือกตั้งในวันอังคารแรกหลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกๆปี และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะสามารถออกมาลงคะแนนเลือกตั้งทั้งในระดับประเทศ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น (ในระดับชาติ เช่น การเลือกผู้แทนไปเลือกประธานาธิบดี สมาชิกสภาสูง สมาชิกสภาล่าง ในระดับรัฐ เช่น การเลือกผู้ว่าการรัฐ เลือกสมาชิกสภารัฐ เลือกอัยการของรัฐ ประชามติร่างกฏหมายของรัฐ และในระดับท้องถิ่น เช่น การเลือกนายกเทศมนตรี เลือกตัวแทนท้องถิ่น เลือกผู้พิพากษาศาลท้องถิ่น รวมไปถึงการเลือกให้ผ่านหรือไม่ผ่านร่างกฎหมายท้องถิ่นบางรายการ) ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละปี และบางปีที่เป็นเลขคี่ ก็อาจจะไม่มีการเลือกตั้งเลยก็ได้ เพราะไม่มีตำแหน่งไหนจะหมดวาระลง
วันเลือกตั้ง
กฎหมายของอเมริกาจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งประจำปีไว้เลย ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันอังคารแรกหลังวันที่หนึ่งพฤศจิกายนของทุกๆปี และเรียกวันนั้นว่า ‘Election Day’ (หรือ ‘วันเลือกตั้ง’ ในภาษาไทย) อย่างเช่นนปี 2020 นี้ วันเลือกตั้งคือวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน และเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นก็จะจัดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ เพื่อที่ทางหน่วยงานรัฐบาลจะได้ไม่ต้องจัดเลือกตั้งหลายรอบ และพลเมืองก็สามารถเลือกทีเดียวแล้วเสร็จไปเลย
วันเลือกตั้งที่อเมริกาก็จะมีหลักๆสามแบบ
Presidential Election เป็นปีเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี เลือกตั้งสมาชิกสภาสูงจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เลือกตั้งสภาล่างทั้งหมด และเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในบางรัฐ และเลือกตั้งระดับรัฐและระดับท้องถิ่น
Off-year Election เป็นปีเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐใน 2 - 3 รัฐเท่านั้น และเลือกตั้งระดับรัฐและระดับท้องถิ่น
Midterm Election เป็นปีเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เลือกตั้งสภาล่างทั้งหมด และเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในบางรัฐ และเลือกตั้งระดับรัฐและระดับท้องถิ่น
โดย Off-year election จะเป็นปีเลขคี่ และก็อาจจะไม่มีการเลือกตั้งเลยในบางเขตเลยก็ได้ เพราะไม่มีตำแหน่งไหนจะหมดวาระลงที่พลเมืองในเขตนั้นต้องออกเสียง นอกจากวันเลือกตั้งประจำนี้แล้ว ในบางกรณีอาจจะมีวันเลือกตั้งพิเศษเพื่อเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง แต่ในบางกรณีอาจจะให้อำนาจแก่ผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งที่ว่างลงแทนไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งทั่วไป
จะเห็นได้ว่าวันเลือกตั้งประจำปีนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในกฎหมายการเลือกตั้งของอเมริกาเลย และคนในประเทศก็จะวางแผนได้ล่วงหน้าเพราะวันนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี รวมถึงในแต่ละปีก็อาจจะมีการเลือกตั้งที่หลากหลายทั้งในระดับชาติ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องรอทุกๆสี่ปีเหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของไทย (ในรอบวาระปกติ)
กระบวนการเลือกตั้ง
ในส่วนของกระบวนการเลือกตั้งนี้ ขออ้างอิงจากระบบของรัฐ California (ส่วนในรัฐอื่นๆก็อาจจะมีกระบวนการแตกต่างกันไป) ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งนี้แตกต่างจากไทยตั้งแต่สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง โดยผู้ที่ประสงค์จะออกเสียงเลือกตั้งที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะต้องไปลงทะเบียนกับทางรัฐก่อนว่าต้องการออกเสียงเลือกตั้ง และยังสามารถเลือกได้ว่าต้องการเลือกผ่านไปรษณีย์หรือไม่ รวมไปถึงแสดงเจตจำนงว่าจะมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งระดับพรรคกับพรรคไหน
ในส่วนของการเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์นั้น ตามปกติจะเป็นหนึ่งในทางเลือก ถ้าหากไม่ต้องการไปออกเสียงที่คูหาในวันเลือกตั้ง โดยเมื่อได้รับบัตรเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์แล้ว ก็สามารถออกเสียงบนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับโดยการเอาปากกาฝนช่องที่ต้องการลงคะแนน และเมื่อเลือกครบถ้วนแล้วก็ผนึกซอง แล้วก็ส่งใบลงคะแนนกลับไปทางไปรษณีย์โดยไม่ต้องเสียค่าส่งไปรษณีย์ใดๆ ส่วนในปี 2020 นี้ ทางรัฐ California จะให้ผู้ที่ลงทะเบียนออกเสียงเลือกตั้งไว้ได้เลือกตั้งผ่านไปรษณ์ย์ทุกคน เพราะสถานการณ์โรคระบาด แต่ก็ยังสามารถเอาบัตรเลือกตั้งที่ได้รับผ่านไปรษณีย์ไปหย่อนที่คูหาเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ถ้าต้องการ
ส่วนการแสดงเจตจำนงว่าจะมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งกับพรรคไหนนั้น ก็จะมีให้เลือกคือพรรค Democratic พรรค Republican และพรรคอื่นๆ ซึ่งก็จะได้มีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนพรรคไปลงแข่งขันเลือกตั้ง เช่น การเลือกตัวแทนพรรคที่จะลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
ถ้าหากเทียบกับเมืองไทย คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปลงทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานราชการใดๆ แต่ของไทยจะต้องไปที่คูหาเลือกตั้งด้วยตนเอง ไม่มีการเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ (นอกจากเป็นการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร) รวมถึงกระบวนการเลือกตั้งของไทยก็ไม่ได้รวมในส่วนของการเลือกตั้งระดับพรรคเข้ามาด้วย แต่ปล่อยให้แต่ละพรรคจัดการกันเอง
บัตรเลือกตั้ง
บัตรเลือกตั้งของอเมริกานั้นจริงๆไม่ใช่บัตร แต่เป็นเหมือนกระดาษข้อสอบหลายๆแผ่นเลย เพราะผู้ออกเสียงเลือกตั้ง จะต้องตัดสินใจออกเสียงในหลายๆเรื่อง และแต่ละเรื่องก็อาจจะมีหลายตัวเลือก ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งประจำปี 2020 นี้ ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ในเมือง Los Angeles รัฐ California จะมีโอากาสได้ตัดสินใจในหลายๆเรื่อง ดังต่อไปนี้
เลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี (President and Vice President of the United States) – เลือกทั้งคู่พร้อมกันจำนวน 2 ตำแหน่ง
เลือกตั้งสมาชิกสภาล่างของอเมริกา (United States Representative) – จำนวน 1 ตำแหน่ง
เลือกตั้งสมาชิกสภาของ California (Member of the State Assembly) – จำนวน 1 ตำแหน่ง
เลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมผู้บริหารเขต Los Angeles (Supervisor, Los Angeles County Board of Supervisors) – จำนวน 1 ตำแหน่ง
เลือกตั้งอัยการเขต Los Angeles (District Attorney of Los Angeles County) – จำนวน 1 ตำแหน่ง
เลือกตั้งผู้พิพากษา ประจำศาลสูงของเขต Los Angeles (Judge of the Superior Court of Los Angeles County) – จำนวน 3 ตำแหน่ง
เลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนของ Los Angeles (Member of the Board of Trustees, Los Angeles Community College District) – จำนวน 4 ตำแหน่ง
ออกเสียงประชามติ อนุมัติพันธบัตรเงินกู้ของรัฐ มูลค่า 5.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อดำเนินการวิจัย Stem Cell ต่อไป โดยรัฐจะต้องจ่ายเงินกู้คืน 260 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในทุกปีงบประมาณไปอีก 30 ปี – ออกเสียงอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
ออกเสียงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐ California ในการคืนสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ผู้กระทำความผิดที่ได้ครบกำหนดในการถูกจำคุกแล้ว แต่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติ สามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ – ออกเสียงอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
ออกเสียงประชามติ ให้คนขับรถผ่าน Uber หรือ Lyft หรือ application อื่นๆ เป็นผู้ประกอบการอิสระ และไม่ใช่พนักงานประจำของบริษัท – ออกเสียงอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
ออกเสียงประชามติ งบประมาณการปรับปรุงอุปกรณ์และการเพิ่มความปลอดภัยของโรงเรียน ในเขตการศึกษาของเมือง Los Angeles โดยการเพิ่มภาษีที่ดิน – ออกเสียงอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และงบประมาณนี้จะผ่านได้ ถ้าได้รับเสียงอนุมัติเกิน 55% ของผู้ที่ออกเสียง
และยังมีการออกเสียงประชามติอื่นๆ อีกหลายเรื่อง
จากรายการข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีหลายประเด็นมาก ที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะต้องตัดสินใจ แล้วออกเสียงลงบนบัตรเลือกตั้ง โดยเป็นการให้อำนาจพลเมืองในการตัดสินใจตั้งแต่ตำแหน่งระดับประเทศ ระดับรัฐ ลงไปถึงระดับเมือง รวมไปถึงยังมีสิทธิในการตัดสินในทั้งกฎหมาย งบประมาณ และภาษี ซึ่งก็เหมือนกับพลเมืองเป็น ส.ส. คนนึงได้เลย เพราะกว่าจะตัดสินใจในแต่ละประเด็น ก็จะต้องศึกษาที่มาที่ไป การจัดสรรงบ และข้อมูลอื่นๆประกอบอีก
พอเทียบกับที่เมืองไทย จะเห็นได้ว่าบัตรเลือกตั้งของไทย หนึ่งบัตรจะมีหนึ่งเรื่อง และในวันเลือกตั้งก็จะให้ออกเสียงไม่กี่รายการ เพราะของไทยจัดการเลือกตั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นแบบกระจัดกระจาย ไม่มีการรวมเป็นวันเดียว นอกจากนี้เมืองไทยจะให้พลเมืองออกเสียงแค่ตำแหน่งสำคัญหรือเรื่องสำคัญ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร นายกหรือสมาชิกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เท่านั้น ถ้าเทียบกันกับอเมริกาจะให้ความรู้สึกว่าพลเมืองของไทยมีสิทธิในการตัดสินเหมือนเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกเสียงได้เฉพาะในเรื่องสำคัญ เช่น การแต่งตั้งกรรมการ แต่ถ้าของอเมริกา พลเมืองจะมีสิทธิในการตัดสินใจเหมือนเป็นผู้บริหารบริษัทที่ตัดสินใจได้ตั้งแต่บุคคลากร งบประมาณ กฎเกณฑ์ และอื่นๆในบริษัท
หลักฐานการออกเสียงเลือกตั้ง
สำหรับคนที่ได้ออกเสียงเลือกตั้งแล้ว ก็จะได้รับสติกเกอร์ระบุว่า “I Voted” หรือ “ฉันได้ออกเสียงแล้ว” ในภาษาไทย เอาไปแปะที่ไหนก็ได้ที่ต้องการ และสติกเกอร์แผ่นนี้ก็ยังมีแปลภาษาไทยไว้บนสติกเกอร์ด้วยว่า “ข้าพเจ้าได้ออกเสียงลงคะแนนแล้ว” ซึ่งที่คนที่ออกเสียงแล้ว เขาก็จะเอาไปแปะอกเสื้อกันในวันนั้น ว่าได้เลือกตั้งแล้วนะ คนที่เลือกออกเสียงผ่านไปรษณีย์ก็จะได้รับสติกเกอร์นี้มาในซองจดหมายที่มาพร้อมกับบัตรเลือกตั้งเลย เรียกว่าได้บัตร กาเสร็จ แล้วแปะสติกเกอร์ได้ทันที
ถ้าเทียบกับที่เมืองไทย คนที่ได้ออกเสียงเลือกตั้งแล้วก็จะได้รอยหมึกบนนิ้วมือมา เพื่อแสดงว่าได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วนะ ซึ่งประสบการ์ณหลังเลือกตั้งนี้ก็แตกต่างกันระหว่างสองประเทศ